ค้นหาบล็อกนี้

13 มีนาคม 2551

หิน

1 ความคิดเห็น:

ทหาร-ครู กล่าวว่า...

เรื่องของ "หิน"
กลุ่มสาระฯ : วิทยาศาสตร์ สาระ : กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางโลก
หินเป็นสสารประเภทของแข็งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หินในโลกเกิดมาจากการเย็นตัวหรือการแปรสภาพโดยความดันหรืออุณหภูมิหรือด้วยการทับถม
หินที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันจะประกอบด้วยแร่หลายชนิด และองค์ประกอบเหล่านี้ขึ้นกับชนิดของหินและสภาวะต่างๆ ที่มีอิทธิพลสูงขณะเกิดหิน
ประเภทของหิน
เราอาจแบ่งประเภทหินได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ
1. หินอัคนี
หินประเภทนี้เป็นหินเนื้อแข็ง เกิดจากการเย็นตัวลงของหินร้อนหลอมเหลวที่เรียกว่า แมกมา หินประเภทนี้แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยตามตำแหน่งที่แมกมาเย็นลงแล้วแข็งตัวได้อีกเช่น
1.1.1 หินพลูโตนิก
เป็นการเย็นตัวและตกผลึกของแมกมาที่ใต้ผิวโลก ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามเทพเจ้าใต้พิภพชื่อพลูโต หินพลูโทนิกมักมีสีจางกว่าหินภูเขาไฟและเนื้อหินหยาบมีผลึกแร่ขนาดใหญ่ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเพราะมันเย็นตัวลงอย่างช้าๆ ตัวอย่างหินสำคัญในกลุ่มนี้เช่น หินแกรนิต หินไดโอไลต์
1.1.2 หินภูเขาไฟ
หินภูเขาไฟเป็นหินที่แข็งตัวจากลาวาที่ไหลออกมาเมื่อมีการระเบิดของภูเขาไฟ ซึ่งเป็นการเกิดหินเหนือพื้นผิวโลก
ลาวาที่ประทุขึ้นมาเหนือพื้นผิวโลกมักจะมีก๊าซอยู่ด้วยเมื่อเย็นและแข็งตัวจึงเกิดเป็นหินที่มีรูพรุนอยู่ทั่วไปเช่น หินบะซอลต์ หินพิวมิสหินภูเขาไฟมักมีเนื้อละเอียดและมีสีดำ ผลึกแร่ประกอบหินมีขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นเนื่องจากการเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว และถ้าลาวาเย็นตัวลงเร็วมากอย่างฉับพลันเนื้อหินจะมีลักษณะเหมือนเนื้อแก้วโดยอาจไม่มีการตกผลึกของแร่เลยเรียกหินภูเขาไฟลักษณะนี้ว่าหินออบซิเดียน
1.1.3 หินอัคนีที่เย็นตัวตามรอยแยกของหิน (veinstones)
หินประเภทนี้เกิดจากแมกมาแทรกตัวไปตามรอยแตกหรือรอยแยกของหินบริเวณใกล้เคียง แล้วเกิดการตกผลึกขึ้นที่นั่น ตัวอย่างหินในกลุ่มนี้เช่น
เพกมาไทต์ (pegmatites)
2. หินชั้น หรือหินตะกอน หินชั้นเป็นหินที่เกิดจากกระบวนการผุกร่อนในธรรมชาติของหินเก่าชนิดต่างๆ ที่ถูกกระแสน้ำ ธารน้ำแข็งหรือลมพัดพามาทับถมกันในบริเวณหนึ่งซึ่งมักเป็นแอ่งหรือที่ราบต่ำเช่นพื้นแม่น้ำหรือพื้นท้องทะเลเป็นชั้นๆ เศษหิน ทราย โคลนและดินเหนียวเหล่านี้จะมีการอัดตัวกันแน่นเข้าเนื่องจากการทับถมกันเป็นเวลานาน และตามช่องว่างจะมีตัวประสานเข้าไปแทรกแล้วเกิดการตกผลึกประสานเศษหินหรือตะกอนเข้าด้วยกันเกิดเป็นหินชั้นขึ้น อย่างไรก็ดีหินชั้นเป็นหินที่เกิดการผุพังสึกกร่อนได้ง่ายจึงจัดหินประเภทนี้เป็นหินเนื้ออ่อน
หินชั้นยังอาจเกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ การทับถมของเถ้าภูเขาไฟ หรือการตกตะกอนของสารที่ละลายในน้ำด้วย
เราสามารถแบ่งหินชั้นออกได้เป็น 3 ชนิดตามวิธีการที่เกิดหินคือ
2.1 หินชั้นจากหินเก่า (clastic sediments)
หินชั้นประเภทนี้เกิดจากเศษผุพังของหินเก่าซึ่งได้แก่ หินแตกขนาดต่างๆ กรวด ทราย และดินเหนียว ซึ่งจะผนึกเข้าด้วยกันเป็นก้อนหินด้วย
ตัวเชื่อมพวกแร่ดินเหนียว ปูน(lime) หรือแร่ควอทซ์
ตัวอย่างหินในกลุ่มนี้เช่น หินกรวดมน หินทรายและ หินดินดาน เป็นต้น
2.2 หินชั้นเชิงเคมี (chemical sediments)
เกิดจากสารที่ละลายในน้ำแล้วเกิดการตกตะกอนทั้งโดยการระเหยหรือโดยการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีในสารละลาย
หินในกลุ่มนี้ได้แก่ เกลือหิน ยิปซัม และหินปูน เป็นต้น
2.3 หินชั้นอินทรีย์ (Biogenic sediments)
เกิดจากการสะสมรวมตัวกันของซากพืชซากสัตว์
ตัวอย่างหินชั้นอินทรีย์ เช่น ชอล์ค และถ่านหิน
3. หินแปร
หินแปรเป็นหินเนื้อแข็ง มีต้นกำเนิดมาจากหินอัคนีหรือหินตะกอน เมื่อหินอัคนีหรือหินตะกอนได้รับอิทธิพลของความดันและอุณหภูมิที่สูงมากลึกลงไปใต้ผิวโลก องค์ประกอบดั้งเดิมของหินเหล่านี้จะถูกหลอมผสมเข้าด้วยกันใหม่และถูกอัดหรือพับเป็นชั้นๆ แล้วเกิดการตกผลึกกลายเป็นหินชนิดใหม่เรียกว่าหินแปร
หินกลุ่มนี้มีองค์ประกอบคล้ายกับหินอัคนีแต่องค์ประกอบเหล่านั้นมักถูกจัดเรียงเป็นชั้นๆ เหมือนหินตะกอน ตัวอย่างหินในกลุ่มนี้เช่นหินไนส์ที่เกิดมาจากหินแกรนิต หินอ่อนที่เกิดมาจากหินปูน และหิน ควอทไซต์ที่เกิดมาจากหินทราย หินไมกาชิสต์เป็นหินแปรขั้นสูงมาจากหินดินดาน หินชนวนเป็นหินแปรในขั้นต่ำจากหินดินดาน

ประโยชน์ของหิน
หินมีประโยชน์มากมาย ตัวอย่างเช่น
1. ในหินมีสินแร่ชนิดต่างๆ ทั้งโลหะและอโลหะ
2. ถ่านหินใช้เป็นเชื้อเพลิง นิยมใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า
3. หินแกรนิตใช้ทำพื้นหรือผนังบ้านและอาคาร รวมทั้งนำมาแกะเป็นครกหิน เพราะมีความแข็งมาก
4. หินอ่อนใช้ทำพื้น ผนังบ้าน โต๊ะหินอ่อน หินประดับ กรอบรูป เป็นต้น
5. หินปูนใช้เป็นส่วนผสมในซีเมนต์ที่ใช้สร้างตึก ทำถนนและสิ่งก่อสร้างต่างๆ
6. หินทรายนำมาแกะสลักเป็นรูปต่างๆ ได้ง่าย
7. ก้อนหิน กรวดและทรายใช้ทำถนนหนทาง
8. ทรายใช้ผลิตแก้ว
9. หินหลายชนิดเป็นอัญมณีมีค่าใช้ทำเครื่องประดับ
10. โครงสร้างหรือลักษณะและส่วนประกอบในหินตะกอนช่วยบอกให้เราทราบถึงสภาวะแวดล้อมหรือประวัติทางธรณีวิทยาในขณะที่เกิดหิน เช่น สามารถบอกได้ว่าบริเวณนั้นๆ เป็นบริเวณน้ำตื้นจะพบริ้วคลื่นบนผิวทราย
ที่มา : ข้อมูลมหาวิทยาลัย ราชภัฎสวนดุสิต